พอช. พมจ.สป.ร่วมพัฒนาศักยภาพ กองทุนสวัสดิการชุมชน จังหวัดสมุทรปราการ

0
1814


เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562  ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ อ.บางพลี  จ.สมุทรปราการ  นางสาวพรรณทิพย์  เพชรมาก  รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  นางสาวชญาดา  สิงห์ปี หัวหน้างานปฏิบัติการชุมชน  นายธีระเดช  คุณสนอง  นักพัฒนาสังคมปฏิบัติการ ผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ จังหวัดสมุทรปราการ  นายไพรัช เรืองฤทธิ ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยมี นางเจียม รุ่งเรือง สมาชิกสภา อบจ.สป และประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางพลีใหญ่ ร่วมให้การต้อนรับ   

การจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพแกนนำกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล ให้มุ่งมั่นมีความตั้งใจ มีเป้าหมายสำคัญในการติดตามผลการดำเนินงาน  สถานะกองทุนสวัสดิการชุมชน การวิเคราะห์ศักยภาพกองทุน พร้อมทั้งยกระดับสู่การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อการเชื่อมโยงบูรณาการร่วมกับภาคีหน่วยงานอื่น ๆ ตลอดจนการวิเคราะห์พื้นที่และจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงการสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน ปี 2563 ซึ่งมีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล  เข้าร่วมทั้งสิ้น 25 กองทุน

นางสาว พรรณทิพย์ เพชรมาก รองผู้อำนวย พอช. ได้บรรยาย เปิดประเด็นเพื่อทบทวนหลักคิดเจตนารมณ์สำคัญในการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชน  การจัดสวัสดิการชุมชนรูปแบบใหม่ ที่มากกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับคนในชุมชน การประสานทุนจากภายนอก ดึงภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาร่วมสมทบงบประมาณ  การจัดทำรายงานผลการดำเนินงานกองทุนสวัสดิการชุมชนเผยแพร่ต่อสาธารณะ เป็นต้นแบบเรื่องธรรมาภิบาล

ทางด้าน นายธีระเดช  คุณสนอง นักพัฒนาสังคมปฏิบัติการ  ผู้แทน พมจ.สมุทรปราการ ได้ร่วมนำเสนอ การพัฒนาระบบข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชนอย่างมีธรรมาภิบาล สู่การบริหารจัดการที่ดีกองทุนสวัสดิการชุมชน  ผ่านเครื่องมือระบบแฟ้มข้อมูล “7 หมวดหมู่บริหารจัดการที่ดี” การจัดทำแบบแสดงสถานะกองทุนสวัสดิการชุมชน และการจัดทำบัญชีรายชื่อสมาชิก (หัวเหลือง)

การจัดเวทีครั้งนี้  ได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 6 กลุ่มตามอำเภอ บางบ่อ บางพลี บางเสาธง พระสมุทรเจดีย์ พระประแดง และเมือง  เพื่อประเมินกองทุนสวัสดิการชุมชนตามเกณฑ์คุณภาพ A (กองทุนสวัสดิการที่เป็นรูปธรรม) B (กองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีความเข้มแข็ง) C (กองทุนสวัสดิการชุมชนที่อยู่ระหว่างการพัฒนา) D (กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ต้องฟื้นฟู) พร้อมกันนี้ยังได้มีการระดมความคิดเห็นแผนพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนในด้านต่าง ๆ ดังนี้  1.ด้านระบบข้อมูล 2.ด้านการขยายฐานสมาชิก 3.ด้านคณะกรรมการ/คณะทำงาน 4.ด้านการเชื่อมโยงท้องถิ่น ด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นแผนพัฒนาที่สามารถยกระดับกองทุนและเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคีได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต.

บุญทัน มาพงษ์ : รายงาน