สปสช. เขต ๖ ระยอง ประชุมทำความเข้าใจ เครือข่ายบริการหน่วยบริการประจำและหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 5 ประเภท

0
219

สปสช. เขต ๖ ระยองจัดประชุมซักซ้อมความเข้าใจ การจัดเครือข่ายบริการหน่วยบริการประจำและหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 5 ประเภท หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม (ร้านยา)/หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านการพยาบาลและผดุงครรภ์/ หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเทคนิคการแพทย์/ หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านภายภาพบำบัด /ห้องพยาบาลในสถานประกอบการ/

       วันที่ 15 ธันวาคม 2565 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๖ ระยองจัดประชุมซักซ้อมความเข้าใจการจัดเครือข่ายบริการหน่วยบริการประจำและหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 5 ประเภทได้แก่

  1. หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม (ร้านยา) 
  2. หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านการพยาบาลและผดุงครรภ์ 
  3. หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเทคนิคการแพทย์ 
  4. หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านภายภาพบำบัด 
  5. ห้องพยาบาลในสถานประกอบการ

       ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย  1. หัวหน้ากลุ่มงานประกันสุขภาพ 2. หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข 3. หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ 4. หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรีตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว รวมถึงผู้จัดการร้านยา คลินิกพยาบาลและผดุงครรภ์  คลินิก LAB คลินิกกายภาพบำบัด ที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. แล้ว รวม 370 แห่ง  โดยมีนายวิศิษฏ์ ยี่สุ่นทอง รองผู้อำนวยการเขต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๖ ระยอง เป็นประธานการประชุม เภสัชกรปรีชา พันธุ์ติเวช คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 ได้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว

       นายวิศิษฏ์ ยี่สุ่นทอง รองผู้อำนวยการเขต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๖ ระยอง  กล่าวว่า ด้วยความร่วมมือระหว่างสภาเภสัชกรรมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับบริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common illnesses) ให้แก่ผู้มีสิทธิบัตรทองที่ไปรับบริการที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาและการดูแลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปแออัดที่โรงพยาบาล

       ขณะที่ทางสภาเภสัชกรรมมุ่งเน้นในเรื่องการให้บริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากต้องผ่านมาตรฐาน GPP.(Good Pharmacy Practice) ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว จะต้องเข้าร่วมเป็นร้านยาคุณภาพตามเกณฑ์ที่สภาเภสัชกรรมกำหนด เมื่อขึ้นทะเบียนร้านยาคุณภาพแล้ว ยังต้องเข้ารับการอบรมในการดูแลผู้ป่วย เช่น เมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านจะซักอาการอย่างไร ดูแลอย่างไร มาตรฐานการจ่ายยาเป็นอย่างไร เมื่อผ่านการอบรมแล้วยังต้องสอบให้ผ่านเกณฑ์จึงจะได้ใบประกาศนียบัตรรับรองและสามารถให้บริการดูแลโรคทั่วไปได้ นายวิศิษฏ์ กล่าว