นางศศิวิมล อุทัยพันธ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสมุทรปราการ นำคณะฯ เดินทางไปศึกษาดูงานการจัดการขยะแบบครบวงจร ตามโครงการ “ครอบครัวมหาดไทย ห่วงใยสิ่งแวดล้อม” ณ วัดจากแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี พระมหาประนอม ธัมมาลังกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง ให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ และการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกในการนำกลับมาเป็นพลังงานเชื้อเพลิง การนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาแปรรูปเป็นผ้าจีวร
“ หลวงพ่อ บอกว่า วัดจากแดงร่วมกับจิตอาสาชุมชนใกล้วัด ได้จัดทำโครงการขุดทองจากกองขยะ เพื่อปลูกจิตสำนึกในการจัดการขยะอย่างยั่งยืนตามแนววิถีพุทธ โดยการนำขยะมาใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาพัฒนาตนเองตามแนวทาง “แยกเถอะนะ” 3 ดีที่ได้ ประกอบด้วย แยกแล้วดี เมื่อขยะถูกคัดแยกก่อนทิ้ง ก็จะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี, แยกแล้วรวย ขยะที่แยกตามประเภทจะมีมูลค่าเพิ่มจากขยะไม่ที่แยกหลายเท่าตัว, แยกแล้วได้บุญ หมายถึง ขยะที่แยกแล้ว เช่น ขวดน้ำดื่มที่นำมาทำบุญถวายให้กับวัดจากแดง ทางวัดก็นำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลผลิตเป็นผ้าไตรจีวร เท่ากับเป็นการถวายเครื่องนุ่งห่มให้พระภิกษุ ”
บริบทของ “ วัดจากแดง ” ไม่ใช่แค่ ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่มีความสำคัญต่อชุมชนในพื้นที่อีกด้วย ตัวอย่างหนึ่งคือ วัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ตั้งอยู่ในบริเวณคุ้งบางกระเจ้า ในพื้นที่สีเขียวหรือปอดแห่งสุดท้ายของคนกรุงเทพฯ
ทางวัด ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการแก้ไขปัญหาขยะในชุมชนที่มีเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขี้นเรื่อยๆ ด้วยการคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลาประมาณ 5 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา วัดจากแดงมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รณรงค์ลดปริมาณขยะและการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการใช้ซ้ำ เป้าหมายก็เพื่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่ดีขึ้น
ถึงแม้ว่า “วัดจากแดง” จะมีระบบการจัดการขยะที่ดี สามารถเป็นต้นแบบแก่วัดแห่งอื่นๆ ได้ แต่ก็ยังขาดองค์ความรู้ที่จะนำขยะบางประเภท อย่างเช่นพลาสติกซึ่งย่อยสลายยาก กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง จึงได้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้ ด้วยการนำขยะพลาสติกมาถักทอเป็นเส้นใยผลิตเป็นผ้าผืน เพื่อตัดเย็บเป็นชุดผ้าไตรจีวรให้แก่พระสงฆ์ได้สวมใส่ ทำผลิตภัณฑ์ผ้าไตรจีวรรีไซเคิลจากขยะพลาสติกเป็นครั้งแรก
โดยจีวร 1 ผืน ทำจากขวดน้ำพลาสติกประมาณ 15 ขวด ขณะที่ผ้าไตรจีวร ทำจากขวดน้ำราว 30 ขวด อีกทั้งยังมีคุณภาพที่ดี ด้วยการนำขวดพลาสติกไปแปรรูปเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ แล้วมาทอรวมกับผ้าฝ้ายออกมาเป็นผ้าผืน นำมาถวายให้ทางวัดตัดเย็บเป็นผ้าไตรจีวรให้ถูกต้องตามหลักพุทธบัญญัติ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยบริษัทภายนอกดำเนินการ หลวงพ่อบอก
นอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ ผลิตภัณฑ์ผ้าไตรจีวรที่ผลิตออกมายังมีคุณภาพเทียบเท่ากับจีวรเกรดเอ เพราะผสมซิงค์เข้าไปในเส้นใยตั้งแต่ต้นด้วย ช่วยลดกลิ่นและยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย ทำให้พระสงฆ์สวมใส่สบายมากขึ้น
นางศศิวิมล อุทัยพันธ์ บอกว่า สำหรับการศึกษาดูงานในครั้งนี้ทางคณะแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสมุทรปราการ จะได้นำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับคนในครอบครัวและชุมชนต่อไป เพื่อเป็นการสนับสนุนแผนรณรงค์ “แยกก่อนทิ้ง”ของกระทรวงมหาดไทย ในการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยตามนโยบายของรัฐบาล
