มท.2 สั่งถอดบทเรียนอุบัติเหตุ ลดอัตราการสูญเสีย สะสมจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบหมื่นศพ
เมื่อวันที่ 5 ม.ค.64 ที่ห้องประชุมกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช. มหาดไทย เป็นประธานประชุมคอนเฟอร์เรนซ์ สรุปผลการเกิดอุบัติเหตุในช่วงรณรงค์ 7 วันอันตราย ได้มอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนท้องถนนในสายต่างๆ ทั้งจากถนนสายหลักที่อยู่ในการดูแลของกรมทางหลวง และทางหลวงชนบท 100,000 กิโลเมตร และที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) 600,000 กิโลเมตร ทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล โดยขอให้ทุกภาคีเครือข่ายบูรณาการร่วมกัน ทั้งนี้ย้ำบทบาทศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ขององค์กรปกครองท้องถิ่นทุกระดับ ในส่วนของถนนที่อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวงที่เป็นเส้นทางสายหลัก
ได้มอบหมายให้ สำนักงานป้องกันภัยจังหวัด และแต่ละหน่วยงานในพื้นที่วิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ถอดบทเรียนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่เพื่อเป็นฐานข้อมูลป้องกันและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเดินทางของประชาชน เน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
”” ขอความร่วมมือให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น ในการบริหารจัดการแผนงาน แผนเงิน แผนคน ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และกำชับกวดขันทุกพื้นที่ ””
ในส่วนจังหวัดสมุทรปราการ นายปภิณวิช ละอองแก้ว ปภ. สมุทรปราการได้ทำการสรุปการทำงานเพื่อถอดเป็นบทเรียนนำไปปฏิบัติและร่วมกับภาคีอื่น กล่าวคือ
ให้ถอดบทเรียนผลการดำเนินงานในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุ ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงาน และกำหนดแนวทาง มาตรการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยใช้กลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกระดับ ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เน้นการลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและลดการเสียชีวิต ทั้งด้านพฤติกรรมการขับขี่ เช่นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ และการไม่สวมหมวกนิรภัย ด้านมาตรฐานความปลอดภัยของถนน และด้านความปลอดภัยของยานพาหนะ
ในระดับพื้นที่ ให้ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเจ้าภาพร่วมกับภาคประชาชน จิตอาสา และอาสาสมัคร ขับเคลื่อนการดำเนินงานในชุมชน หมู่บ้าน โดยเน้นการลดปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านคน ถนน และยานพาหนะ รวมทั้งการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงหลัก ดื่มแล้วขับ รถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย และการไม่สวมหมวกนิรภัย
ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ตลอดจนปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้ขับขี่ ให้มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
