31.8 C
Samut Prakan
Saturday, July 27, 2024
spot_img

ข่าวใหม่ล่าสุด

spot_img

Daily Times Online บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์

บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์

เรื่อง “ บุหรี่ไฟฟ้า มีไว้ในครอบครอง ผิดกฎหมายจริงหรือ ? ”

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่าง ๆ กรณีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และถูกจับกุมเนื่องจากตรวจพบว่า “ มีบุหรี่ไฟฟ้าในความครอบครอง” จนทำให้เกิดความสับสน และวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่า

“ ตกลงแล้ว การมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครองผิดกฎหมายหรือไม่ ?

และหากผิดกฎหมายจะผิดกฎหมายอะไร เพราะเหตุใดจึงยังคงเห็นมีการขายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการทั่วไปอยู่ และมีการพกและสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันราวกับว่า เป็นคนอีกระดับหนึ่ง ”

นอกจากนี้ยังปรากฏข่าว บุหรี่ไฟฟ้าแพร่กระจายไปยังเด็กและเยาวชน และบุหรี่ไฟฟ้ามีรูปแบบสวย ทันสมัย บางรูปแบบมองไม่ออกเลยว่า เป็นบุหรี่ไฟฟ้า และหาซื้อได้ง่ายทั้งออนไซค์และออนไลน์

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐว่า

“ การนำเข้า การครอบครอง การขายหรือให้บริการ และการสูบบุหรี่ไฟฟ้า จะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร และหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง”

เพื่อให้เกิดการบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับ “บุหรี่ไฟฟ้า” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) , สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมศุลกากร , กรมการค้าต่างประเทศ และกรมควบคุมโรค จึงได้มาร่วมกันประชุมหารือ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และได้ข้อสรุป ข้อกฎหมาย และแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ดังนี้

(๑) กรณี ผู้ขาย หรือ ผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า ( สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบ)

สคบ .โดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มี คำสั่งที่ ๓ / ๒๕๕๘ ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๘ เรื่อง “ ห้ามขาย หรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู บารากูไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากูน้ำยาสำหรับเติมบารากูไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๘ ก.พ.๕๘)

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า “ มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด” นอกจากนี้ ยังพบ โลหะหนักที่ เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งการสูบอุปกรณ์ดังกล่าวอาจทำให้ผู้สูบเกิดโรคต่าง ๆ หรือเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายโรคติดต่อหลายชนิด

ดังนั้น ผู้ใดขายหรือให้บริการ มีความผิดตามมาตรา ๒๙/๙ ประกอบมาตรา ๕๖/๔ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน

หกแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๒) . กรณีเป็น “ ผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า” ผู้นำเข้า จะเป็นความผิดตาม มาตรา ๒๐ แห่ง พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบ

ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากูไฟฟ้า หรือ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรพ.ศ. ๒๕๕๗ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินห้าเท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับกับ ให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุ และ พาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย

นอกจากนั้น ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๔ อีกด้วย

มาตรา ๒๔๔ ผู้ใด นําของที่ผ่านหรือกําลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือ ส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนําของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลําโดยหลีกเลี่ยง ข้อจํากัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

และศาลอาจ “สั่งริบของนั้น” ก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่

แม้จะเพียงแค่ “พยายามกระทําความผิด” ก็ต้องรับโทษเช่นเดียวกันกับผู้กระทำผิดสำเร็จ

 

(๓.) กรณี “ ผู้ครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า”

ผู้ครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า จะเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๖ วรรคหนึ่ง

ฐาน “ ช่วยช่อนเร้น ช่วยจำหน่ายช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง

ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมคำอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้

ดังนั้น เมื่อ “บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม” การครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าแม้จะไม่มีเจตนา หรือ ไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด ก็เป็นความผิดฐาน “รับไว้ด้วยประการใดใดซึ่งตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร” และต้องถูกริบบุหรี่ไฟฟ้าให้ตกเป็นของแผ่นดินและนำไปทำลายตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ( คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๑๑ / ๒๕๖๔ )

สำหรับ การดำเนินคดีกับ “ผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ” นั้น มีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

 

๓.๑ ในชั้นจับกุม – ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งผู้ที่จะถูกจับกุมทราบว่า “ การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นความผิด” แต่ความผิดดังกล่าว สามารถตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากรได้

 

๓.๒ ในชั้นสอบสวน – ให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำผู้ต้องหา หากผู้ต้องหาให้การ “รับสารภาพ” ให้พนักงานสอบสวนแจ้งว่า “ความผิดดังกล่าวสามารถตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากรได้ หากผู้ต้องหายินยอมยกของกลางดังกล่าวทั้งหมดให้ตกเป็นของแผ่นดิน”

 

๓.๓ กรณี ผู้ต้องหาประสงค์จะระงับคดีในชั้นศุลกากร ให้พนักงานสอบสวนจัดทำ คำร้องขอ

ทำความตกลงระงับคดี และให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อ

 

๓.๔ ให้พิจารณา “ ปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวโดยไม่มีประกัน”

 

๓.๕ ให้ส่ง คำร้องขอทำความตกลงระงับคดี, ของกลาง, สำเนาบันทึกการจับกุม, สำเนาบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยัง “หน่วยงานศุลกากรที่รับผิดชอบพิจารณา”

 

๓.๖ เมื่อได้รับแจ้งจาก กรมศุลกากรว่า “รับทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากรโดยรับของกลางไว้เป็นของแผ่นดิน และอนุมัติงดการฟ้องร้อง ตามมาตรา ๒๕๖ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.๒๕๖๐ และให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็น “ควรสั่งไม่ฟ้อง”ไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป

เมื่อ พนักงานอัยการ รับสำนวนและความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องด้วยเหตุ “กรมศุลกากรรับทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร” แล้ว พนักงานอัยการ ก็จะมีความเห็นและคำสั่ง

“ ยุติ การดำเนินคดีเนื่องจากสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับตามกฎหมายอื่น”

ความผิดฐาน “ มีบุหรี่ไฟฟ้า (ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้าม)ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย”ก็จะยุติลง

 

(๔.) บุหรี่ไฟฟ้าเป็น “ผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ตามความในมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ๒๕๖๐

ดังนั้น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่ จึงมีความผิดตามมาตรา ๔๒ ประกอบมาตรา ๖๗ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ๒๕๖๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ มีบันทึกข้อความ ที่ ๐๐๑๑.๑๔ ว ๘๕๐ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ถึง หน่วยงานในสังกัด เรื่อง ข้อกฎหมาย และแนวทางการปฏิบัติกรณีความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า

มาถึงบรรทัดนี้หวังว่า ผู้อ่านคงจะได้รับความรู้ว่า “ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม” ใครก็ตามเมื่อมีไว้ในความครอบครองไม่ว่าจะโดยเจตนา หรือ ไม่เจตนาก็เป็นความผิด และผู้ที่ขายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า (รวมถึงบารากู่) ก็เป็นความผิด และการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่ก็เป็นความผิด ส่วนจะเป็นความผิดตามกฎหมายใดได้อธิบายไปแล้ว และผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดฐาน “ มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย สามารถทำความตกลงกับกรมศุลกากรโดยยกของกลางให้เป็นของแผ่นดิน เพื่อระงับคดีได้

• นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์

อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ

(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน(คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ ๒๕

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗

เพิ่มเพื่อน Line Official

spot_img

ข่าวใหม่ล่าสุด

ข่าวเด็ด ห้ามพลาด