เชียงใหม่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ใช้กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาด 2.4 เมตร บนดอยอินทนนท์ จ. เชียงใหม่
สังเกตการณ์ปรากฏการณ์ “ดาวยูเรนัสบังดาวฤกษ์” ร่วมกับ NASA และหอดูดาวขนาดใหญ่ทั่วโลก เก็บข้อมูลศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมโดยรอบของดาวเคราะห์อันจะนำมาซึ่งการค้นพบองค์ความรู้ดาราศาสตร์ใหม่ ๆ ในอนาคต
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า คืนวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ตามเวลาในประเทศไทย เกิดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ “ดาวยูเรนัสบังดาวฤกษ์” ซึ่ง NASA Langley Research Center ได้เชิญหอดูดาวขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลก รวมถึงหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือ หอดูดาวแห่งชาติ บนดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เข้าร่วมสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย คืนดังกล่าว นักดาราศาสตร์ NARIT ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ร่วมเก็บข้อมูลโดยบันทึกภาพดาวยูเรนัสขณะกำลังบดบังดาวฤกษ์ 2MASS J03310965+1846263 ที่มีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 13 นอกจากนี้ ภาพที่บันทึกได้ยังปรากฏให้เห็นดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ของดาวยูเรนัส จำนวน 4 ดวง ได้แก่ มิแรนดา อัมเบรียล แอเรียล และไททาเนีย รวมถึงปรากฏให้เห็นวงแหวนบาง ๆ ของดาวยูเรนัสที่มีลักษณะตั้งฉากเมื่อมองจากโลก
ปรากฏการณ์ดาวยูเรนัสบังดาวฤกษ์ในคืนวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 สามารถสังเกตได้ในทุกพื้นที่ของทวีปเอเชีย มีเส้นทางเงาหลักผ่านรัสเซียและยุโรปตะวันออก สำหรับประเทศไทย ปรากฏการณ์เริ่มในเวลาประมาณ 00:29 น. ช่วงกลางของการบังเกิดที่เวลาประมาณ 0:59 น. และสิ้นสุดปรากฏการณ์เมื่อเวลาประมาณ 01:32 น. ซึ่ง NARIT เก็บข้อมูลตลอดระยะเวลาการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว
การเก็บข้อมูลครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ที่นักดาราศาสตร์จะได้ตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศของดาวยูเรนัส โดยประเทศไทยจะร่วมวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับหอดูดาวในประเทศญี่ปุ่นและอินเดีย ได้แก่ หอดูดาวมหาวิทยาลัยฮอกไกโด หอดูดาวมหาวิทยาลัยเกียวโตซังเกียว หอดูดาวเดวัสถัล และหอดูดาวหิมาลายันจันทรา
ปรากฏการณ์ “ดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์” (Stellar occultation by planets) เป็นปรากฏการณ์ที่ โลก ดาวเคราะห์ และดาวฤกษ์พื้นหลัง อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ทำให้เมื่อสังเกตดาวเคราะห์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่อยู่บนโลก จะเห็นดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์พื้นหลังไประยะหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์เคยใช้ปรากฏการณ์นี้ตรวจพบสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบดาวเคราะห์ได้ ขณะที่ดาวเคราะห์กำลังเคลื่อนเข้ามาบังดาวฤกษ์พื้นหลัง หากแสงของดาวฤกษ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงก่อน-หลังการบังกัน หมายความว่าบริเวณรอบ ๆ ดาวเคราะห์อาจมีมวลสารที่ทึบแสงซ่อนอยู่ เช่น การค้นพบวงแหวนของดาวยูเรนัส (พ.ศ. 2520) การค้นพบหลักฐานที่บ่งชี้ถึงวงแหวนของดาวเนปจูน (พ.ศ. 2527) และการค้นพบชั้นบรรยากาศของดาวพลูโต (พ.ศ. 2531) เป็นต้น
ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ยังคงใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์นี้ในการศึกษาพลังงานและโครงสร้างของบรรยากาศชั้นเทอร์โมสเฟียร์และสตราโตสเฟียร์ของดาวยูเรนัส เช่น การเก็บข้อมูลความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศที่ระดับต่าง ๆ ผ่านการวัดความทึบแสงของชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์ การติดตามข้อมูลเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศของดาวยูเรนัส เพื่อนำมาใช้ออกแบบภารกิจยานสำรวจดาวยูเรนัสในอนาคต เป็นต้น
สำหรับกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร เป็นกล้องโทรทรรศน์ของประเทศไทย มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดใช้งานเมื่อปี พ.ศ. 2556 มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยดาราศาสตร์ระดับนานาชาติมากมาย โดย NARIT ได้พัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพิ่มประสิทธิภาพการวิจัย และสะดวกต่อผู้ใช้งานซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์จากทั่วโลก