“สมศักดิ์” รับมอบ “ผลสรุปรับฟังความคิดเห็นผู้ให้บริการ-ผู้รับบริการในระบบบัตรทอง ประจำปี 2568 ครั้งที่ 22” หลัง สปสช. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นฯ ครบ 13 เขตพื้นที่และบูรณาการร่วมกับงานประจำ พร้อมจัดเวทีระดับประเทศ ร่วมมือ Thai PBS. เปิดเวทีสาธารณะ ระดมความเห็นทุกภาคส่วน ครบถ้วน 4 ด้าน ทั้งประเภทและขอบเขตบริการ มาตรฐานบริการ บริหารจัดการกองทุน และคุ้มครองสิทธิ เตรียมสู่กระบวนการกลั่นกรองและนำเสนอบอร์ด สปสช. พิจารณา มุ่งพัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 – สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ “ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย” หรือ ” Thai PBS” ร่วมจัดประชุม “การรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระดับประเทศ ประจำปี 2568” (ครั้งที่ 22) ในรูปแบบเวทีสาธารณะ เพื่อเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนออย่างครอบคลุม รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ สู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)
โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นผู้รับผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นฯ ด้วยตนเอง ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 5 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร และประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านช่องทาง FB Live สปสช. และไทยพีบีเอส (พร้อมล่ามภาษามือ)
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นจากความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันในการเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยที่ประชาชนต้องไม่ยากจนหรือล้มละลายเพียงเพราะความเจ็บป่วย รัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรีนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร มีนโยบายที่จะยกระดับหลักประกันสุขภาพ จาก 30 บาท รักษาทุกโรค ให้เป็น 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ลดเวลา ค่าใช้จ่าย และสามารถรองรับความต้องการใหม่ ๆ จากสถานการณ์สังคมสูงวัย
“เวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปในครั้งนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เชื่อว่าความคิดเห็นและข้อเสนอที่เป็นประโยชน์จากการประชุมในครั้งนี้ จะนำไปพัฒนาต่อยอดระบบบัตรทองให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ตรงตามความต้องการของประชาชนในฐานะเจ้าของหลักประกันสุขภาพ” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการสาธารณสุข ในฐานะเป็นประธานเปิดการประชุมฯ กล่าวว่า การจัดรับฟังความเห็นฯ ในปีนี้ สปสช. ได้ดำเนินการจัดการรับฟังอย่างครอบคลุมทุกมิติและทุกช่องทาง นอกจากการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นฯ ครบทั้ง 13 พื้นที่และได้ส่งมอบผลสรุปรับฟังความคิดเห็นฯ รวมจำนวน 638 ข้อ แล้ว ยังได้บูรณาการเข้ากับงานประจำทำให้ได้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่สะท้อนปัญหาและอุปสรรคต่างๆ จากมุมมองจากภาคส่วนต่างๆ อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ สปสช. ภายใต้การกำกับของคณะอนุกรรมการสื่อสารฯ จะทำการรวบรวมสรุป โดยรวมกับผลความคิดเห็นที่ได้จากเวทีระดับประเทศในวันนี้ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองตามขั้นตอน เพื่อนำเสนอต่อบอร์ด สปสช. พิจารณาต่อไป อันนำไปสู่การพัฒนาระบบที่ยั่งยืนจากการมีส่วนร่วมโดยการรับฟังความคิดเห็นฯ นี้ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนระบบบัตรทอง
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นฯ ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ซึ่งเป็นการจัดเวทีใหญ่ระดับประเทศ และปีนี้ยังเปิดเป็นเวทีสาธารณะ ที่ สปสช. ได้ร่วมกับ Thai PBS ทำให้มีข้อเสนอที่น่าสนใจอย่างมากมาย ครอบคลุมในหลายมิติ โดยครบถ้วนประเด็นทั้ง 4 ด้าน ซึ่งขอยกตัวอย่างข้อเสนอและความคิดเห็นฯ ดังนี้
1) ด้านประเภทและขอบเขตบริการ: มีข้อเสนอให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ที่จำเป็น อาทิ ขยายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA ให้เริ่มที่อายุ 25 ปี , เพิ่มการคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มเสี่ยง , เพิ่มยาจำเป็นหลายรายการ และสิทธิประโยชน์ฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศ เป็นต้น
2) ด้านมาตรฐานบริการ: มีข้อเรียกร้องให้กำกับคุณภาพมาตรฐานของหน่วยบริการเอกชน, เร่งรัดการพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยให้ชัดเจน และเสนอให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (Health Link) ของหน่วยบริการทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นต้น
3) ด้านการบริหารจัดการกองทุน: ข้อเสนอสำคัญคือการเสนอให้แยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว , ปรับเพิ่มเพดานการจ่ายชดเชยตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (AdjRW) เป็น 12,000 บาท และเพิ่มงบประมาณสนับสนุนกองทุนสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) และกองทุนดูแลระยะยาว (LTC) เป็นต้น
4) ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ: มีการเสนอให้เผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิในสถานศึกษา , แก้ไขปัญหาการเรียกเก็บเงินจากผู้รับบริการอย่างเป็นระบบ , สนับสนุนศูนย์คุ้มครองสิทธิภาคประชาชน และจัดทำสื่อที่รองรับความต้องการของคนพิการ เป็นต้น
“ความคิดเห็นและข้อเสนอต่างๆ ที่ได้รับในวันนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดความร่วมมือจากทุกๆ ภาคส่วน ที่เป็นกลไกสำคัญ ซึ่งในนามของ สปสช. ต้องขอขอบคุณทุกๆ ความคิดเห็น และทุกๆ ข้อเสนอแนะที่ได้รับ ซึ่งหลังจากได้รับมอบจากท่านประธานบอร์ด สปสช. แล้ว ทางสำนักงานฯ จะเร่งนำเข้าสู่กระบวนการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว