จากกรณีปัญหาความเดือดร้อนของครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมาก เกี่ยวกับการทำประกันสินเชื่อในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ร่วมกับธนาคารออมสิน โดยเฉพาะในประเด็นการเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.และธนาคารออมสินได้เปิดโอกาสให้ครูฯได้สิทธิ์เลือกบริษัทประกันสินเชื่อ ช.พ.ค.หลากหลายบริษัทในราคาถูกลง ไม่ผูกขาดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งนั้น
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ ส.ส.พรรคประชาชน และรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา คนที่หนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุม กมธ.การศึกษาฯว่า วันนี้ กมธ.การศึกษาฯได้พิจารณาวาระการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมาก เกี่ยวกับการทำประกันสินเชื่อ ช.พ.ค.ดังกล่าวเป็นนัดแรก โดยเบื้องต้นเห็นว่า เบี้ยประกันสินเชื่อ ช.พ.ค.ที่ครูจำนวนประมาณ 4 แสนคนต้องจ่ายในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จากช่วงเริ่มโครงการมีระยะเวลาเอาประกัน 9 ปี และภายหลังมีการต่อสัญญาประกันแบบปีต่อปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ถึงปัจจุบัน สมควรต้องได้ราคาที่ถูกลง เพราะเป็นการประกันแบบหมู่ ซึ่งครูฯทั้ง 4 แสนคน คงไม่มีความเสี่ยงจะเสียชีวิตพร้อมกันทั้งหมดอยู่แล้ว ลักษณะเดียวกับการประกันหมู่นักเรียนที่คิดเบี้ยประกันราคาถูก
ดังนั้น ที่ประชุม กมธ.การศึกษาฯจึงมีมติให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารออมสิน สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ฯลฯ มาขี้แจงและปรึกษาหารือในการประชุมวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ซึ่งในวันนั้นจะมีนายอิทธิพัทธ์ ธีระวรรณสาร อดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัดมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำประกันสินเชื่อด้วย เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาความเดือดร้อนของครูฯ ไม่ให้มีภาระจ่ายเบี้ยประกันราคาสูง จนกลายเป็นหนี้สินกับทางธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นและมีระยะยาวกว่าเดิม
นานอิทธิพัทธ์ ธีระวรรณสาร อดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการได้ให้ข้อมูลว่า ครูจำนวนราว 4 แสนคน ที่ทำประกันสินเชื่อ ช.พ.ค.แบบหมู่ สามารถจ่ายเบี้ยประกันลดลงจากที่เป็นอยู่ได้อย่างแน่นอน ดังนั้น กมธ.การศึกษาฯจะผลักดันให้ธนาคารออมสินและสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.รับไปดำเนินการให้ครูทั้ง 4 แสนคนจ่ายเบี้ยประกันลดลง เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาหนี้สินครู ซึ่งหากเป็นไปได้ด้วยดี ก็อาจไม่จำเป็นต้องเชิญสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มาร่วมแก้ปัญหาด้วย
ทั้งนี้ หากมีตัวแทนครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องการมาให้ข้อมูลแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับความเดือดร้อนจากการทำประกันสินเชื่อ นอกเหนือจากการรวบรวมข้อมูลปัญหาของครูที่สะท้อนผ่านสื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมา ทาง กมธ.การศึกษาฯพร้อมเปิดโอกาสให้เข้าร่วมการประชุมด้วย” รองประธาน กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าว