บทความทางกฎหมาย เรื่อง “เพียงแค่ ขับรถ อาจจะเป็น พยายามฆ่า ได้ จริงหรือ ? ” โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
สืบเนื่องจากข่าว “ คลิปวิดีโอ กล้องหน้ารถยนต์คันหนึ่งบนถนนมอเตอร์เวย์ สาย 9 บางพลี-บางปะอิน พบว่า รถยนต์ BMW ป้ายแดง ขับปาดหน้าไปมาตีคู่ไปกับรถกระบะสีดำ เปิดไฟกระพริบตลอดทาง มีทีท่าเหมือนกำลังทะเลาะกันอยู่ ตลอดทาง รถ BMW พยายามขับปาดหน้ากระบะสีดำเป็นระยะ และจะเห็นว่า รถกระบะพยายาม เบี่ยงเลนหนี เลี่ยงการปะทะ แต่รถ BMW ก็ยังไม่ยอม ขับตามไปปาดหน้า บางจังหวะจะเห็นว่า คนขับ BMW เปิดกระจกชี้หน้าคนในรถกระบะสีดำ ก่อนที่รถเก๋งหรูจะเอาท้ายรถไปชนหน้ารถกระบะ จนเสียหลักไปชนแบริเออร์เกาะกลางถนน ได้รับบาดเจ็บกระดูกซี่โครงหัก นอนพักห้อง ICU และต่อมา ทราบว่า เจ้าของรถ BMW ป้ายแดงรายดังกล่าว ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลธัญบุรี เขตเลือกตั้งที่ 2 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และเป็นบุตรชายของนักการเมืองดังจังหวัดปทุมธานี
และตามข่าว เจ้าของรถ BMW ป้ายแดงรายดังกล่าวได้กล่าวอ้างว่า ตนเองเป็นหลาน “ อาต่าย” แต่ต่อมา “ อาต่าย” กลับปฏิเสธ ไม่ได้เป็นญาติ และให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินคดีไปตามพยานหลักฐาน
ข่าว และคลิปดังกล่าว มีการถกเถียงไปในวงกว้าง แม้แต่ วงการนักกฎหมาย ก็ยังโต้เถียงกันว่า
– รถ BMW ป้ายแดง เป็นฝ่ายผิด
– กระบะสีดำ เป็นฝ่ายผิด
– ผิดทั้งคู่
หากได้ดู คลิปและภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิด จะเห็นเหตุการณ์ 2 ช่วง คือ
ช่วงแรก – หลังผ่านด่านจ่ายเงินค่าผ่านด่าน
ช่วงที่สอง – ขับรถตามกันไปแล้ว ปาดหน้า ( หรือตบรถ ) จนเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถกระบะ เสียหลักพุ่งชนแผง แบริเออทางด้านขวา
ใครเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ?
ตามข่าว เหตุการณ์ในช่วงแรก – เป็นความรับผิดชอบของ “ ทางหลวง 8 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง” ซึ่งได้ มีการแจ้งข้อหาแก่ “ คนขับรถ BMW ป้ายแดง ” ว่า
– ขับรถโดยประมาท หรือ หวาดเสียว อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
– ขับรถในขณะใบอนุญาตสิ้นอายุ
– นำรถที่ยังไม่ได้จดทะเบียนมาใช้ในทาง ( รถป้ายแดง )
ในช่วงที่สอง – รถยนต์ BMW ป้ายแดง ขับรถปาดหน้าเบียดรถกระบะเป็นระยะๆ และในช่วงท้ายก่อนเกิดเหตุได้มีการเบียดเข้ามาในช่องทางของรถกระบะและชนรถกระบะเพื่อให้เสียหลักและเป็นเหตุให้ผู้ขับรถยนต์ BMW ป้ายแดง ได้รับอันตรายสาหัส ซี่โครงหัก จึงเป็นคดีอาญาและคดีอาญาจราจร พนักงานสอบสวนที่รับผิดจึงเป็น พนักงานสอบสวน สภ.ลำลูกกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ความผิดเกิด และ ได้มีการแจ้งข้อหาแก่ “ คนขับรถ BMW ป้ายแดง ” ว่า
– ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย และได้รับอันตรายสาหัส
– ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนและความปลอดภัยของผู้อื่น
– ทำให้เสียทรัพย์
มาดูข้อกฎหมายกัน
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522
มาตรา 4 (9) “ทางร่วมทางแยก” หมายความว่า พื้นที่ที่ทางเดินตั้งแต่สองสาย ตัดผ่านกัน รวมบรรจบกัน หรือติดกัน
มาตรา 4 (33) “สัญญาณจราจร” หมายความว่าสัญญาณใด ๆ ไม่ว่าแสดงด้วยธง ไฟ ไฟฟ้า มือ แขน เสียงนกหวีด หรือด้วยวิธีอื่นใด สำหรับให้ผู้ขับขี่ คนเดินเท้า หรือคนจูง ขี่ หรือไล่ต้อนสัตว์ ปฎิบัติตามสัญญาณนั้น
มาตรา 4 (34) “เครื่องหมายจราจร” หมายความว่า เครื่องหมายใด ๆ ที่ได้ติดตั้งไว้ หรือทำให้ปรากฏในทางสำหรับให้ผู้ขับขี่ คนเดินเท้า หรือคนที่จูง ขี่ หรือไล่ต้อนสัตว์ ปฎิบัติตามเครื่องหมายนั้น
มาตรา 21 ผู้ขับขี่ ต้องปฎิบัติให้ถูกต้องตาม “ สัญญาณจราจร” และ “ เครื่องหมายจราจร”ที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฏในทาง หรือที่เจ้าพนักงานจราจร แสดงให้ทราบ
มาตรา 71 ภายใต้บังคับมาตรา 21 และมาตรา 26 เมื่อผู้ขับขี่ขับรถมาถึง “ ทางร่วม ทางแยก” ให้ผู้ขับขี่ปฎิบัติดังนี้
(1) ถ้ามีรถอื่นอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถในทางร่วมทางแยกนั้นผ่านไปก่อน
(2) ถ้ามาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกันและไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปก่อน เว้นแต่ ในทางร่วมทางแยกใดมีทางเอกตัดผ่านทางเดินรถทางโท ให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางเอกมีสิทธิ์ขับผ่านไปก่อน……
มาตรา 72 ทางเดินรถทางเอก ได้แก่ ทางเดินรถ ดังต่อไปนี้
(1) ทางเดินรถที่ได้ติดตั้งเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็น ทางเดินรถทางเอก
(2) ทางเดินรถที่มีป้ายหยุดหรือป้ายที่มีคำว่า “ให้ทาง” ติดตั้งไว้ หรือทางเดินรถที่มีคำว่าหยุดหรือเส้นหยุดซึ่งเป็นเส้นขาวทึบหรือเส้นให้ทางซึ่งเป็นเส้นขาวประบนผิวทาง ให้ทางเดินรถที่ขวางข้างหน้าเป็นทางเดินรถทางเอก
(3) ในกรณีที่ไม่มีเครื่องหมายจราจรตาม (1) หรือไม่มีป้ายหรือเส้นหรือข้อความบน ผิวทางตาม (2) ให้ทางเดินรถที่มีช่องเดินรถมากกว่าเป็นทางเดินรถทางเอก
(4) ถนนที่ตัดหรือบรรจบกับตรอกหรือซอย ให้ทางเดินรถที่เป็นถนนเป็นทางเดินรถทาง เอก
ทางเดินรถอื่นที่มิใช่ทางเดินรถทางเอกตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นทางเดินรถทางโท
มาตรา 152 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
ดังนั้น การขับรถผ่าน “ ทางร่วมทางแยก” นอกจากผู้ขับขี่จะต้องดู “ ป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร” หรือ “ ทางเอกทางโท” แล้ว เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายอันหมายถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่แล้ว และเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบน “ ทางร่วมทางแยก” การพิจารณาว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท หรือต่างฝ่ายต่างประมาท (ประมาททั้งคู่) ต้องนำองค์ประกอบของภาพรวมทั้งหมดมาพิจารณา โดยเริ่มต้นพิจารณาจาก “ ลักษณะทางกายภาพ” ของ “ ทางร่วมทางแยก” นั้นว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เป็นทางร่วมทางแยกที่มีกี่ทิศทาง แต่ละทิศทางเป็นทางเดินรถที่มีกี่ช่องจราจร มีการติดตั้ง “สัญญาณจราจร” ไว้หรือไม่ เช่น มีไฟเขียวไฟแดงหรือไม่มี มีไฟกระพริบสีเหลือง หรือ มีไฟกระพริบสีแดง หรือไม่มีอะไรเลย เป็นต้น
หาก “ ทางร่วมทางแยก” นั้นมี “ สัญญาณจราจรไฟเขียวไฟแดง” ผู้ขับขี่ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรไฟเขียวไฟแดง นั้น แต่หาก “ ทางร่วมทางแยก” ดังกล่าว ไม่มีสัญญาณจราจรติดตั้งหรือ มีเพียงแต่ “ เครื่องหมายจราจร ” ป้ายข้างทาง หรือ เครื่องหมายบนพื้นทาง ผู้ขับขี่ ก็ต้องปฎิบัติตามเครื่องหมายจราจร ที่ปรากฏในทางนั้น เช่น มี “ เครื่องหมายจราจร” ปรากฏและสามารถบ่งบอกได้ว่า ทางร่วมทางแยก นั้นทางเดินรถทางใดเป็นทางเอก ทางเดินรถใดเป็นทางโท ผู้ขับขี่ก็ปฏิบัติตามหลักการของ “ ทางเอกทางโท ” คือ รถที่ขับขี่มาจาก “ ทางโท” ต้องหยุดรอให้ “ ทางเอก ” ผ่านไปก่อน
แต่ถ้าหาก “ทางร่วมทางแยก” นั้นไม่มีสัญญาณจราจรติดตั้งหรือไม่มีเครื่องหมายจราจรปรากฏจนไม่อาจพิจารณาได้ว่าทางใดได้สิทธิ์ผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อน เพราะไม่มีระบบไฟเขียวไฟแดง ไม่มีป้ายจราจรให้หยุด ไม่มีป้ายให้ทาง ไม่มีเส้นแนวหยุดบนพื้นทาง ผู้ขับขี่ต้องปฎิบัติตามหลักการของมาตรา 71 คือ
– รถคันใดมาถึงทางร่วมทางแยกก่อนก็ได้สิทธิ์ผ่านไปก่อน
– หากผู้ขับขี่ขับรถมาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกัน ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายมือของตนผ่านไปก่อน
ตาม คลิปวิดิโอ เหตุการณ์ช่วงแรก ( หลังผ่านด่านเก็บเงิน ) จะเห็นได้ว่า ทั้งรถ BMW ป้ายแดง และรถกระบะสีดำ ต่างขับรถมาตามทางในทิศทางเดียวกัน จาก 4 เลน ( ช่องทางจราจร) และลดลงเหลือ 2 เลน ( ช่องทางจราจร ) โดยรถยนต์กระบะ เปลี่ยนช่องทางเดินรถจากซ้ายมาทางด้านขวาเพื่อวิ่งในช่องทางจราจรที่ 1 ( จากที่ลดลงเหลือ 2 ช่องทางจราจรแล้ว )
ส่วนรถ BMW ป้ายแดงนั้น วิ่งมาในช่องทางขวาสุด (ช่องทางที่ 4 จากด้านซ้ายมือ ) แล้วเบี่ยงมาทางซ้ายมือเพื่อเข้ามาในเลน (ช่องทางจราจรที่ 1 หรือช่องทางขวาสุด) จากที่ลดลงเหลือ 2 ช่องทางจราจรแล้ว
ตามคลิปวิดิโอ จะเห็นว่า รถยนต์กระบะสีดำ อยู่ข้างหน้า รถ BMW ป้ายแดง แสดงให้เห็นว่า รถยนต์กระบะสีดำ เข้าสู่ช่องทางเดินรถที่ 1 ( จาก 2 ช่องทางเดินรถ ) ก่อน รถ BMW ป้ายแดง
ดังนั้น รถ BMW ป้ายแดง ชอบที่จะต้องชะลอความเร็วของรถลง หรือ เหยีบเบรก ห้ามล้อรถเพื่อให้ความเร็วรถลดลง เพื่อไม่ให้ไปเฉี่ยวชนรถยนต์กระบะหรือ รถยนต์คันอื่นที่อยู่เบื้องหน้า และจะต้องไม่ใช้ความเร็วของรถที่สูงมากในขณะขับขี่ ทั้งที่ มองเห็นอยู่แล้วว่า เบื้องหน้าช่องทางเดินรถดังกล่าวนั้น ช่องทางจราจรได้ถูกลดลงจนเหลือแค่ 2 ช่องทางจราจร และยังมีรถยนต์กระบะอยู่เบื้องหน้า
ส่วน รถยนต์กระบะ ก็ชอบที่จะต้อง ตรวจดูให้ดีก่อนที่จะเปลี่ยนช่องทางเดินรถ จากช่องทางจราจรจากทางด้านซ้ายมาสู่ช่องทางเดินรถที่ 1 หรือ ช่องทางเดินรถด้านขวา ว่า มีรถยนต์ หรือยวดยานพาหนะอื่นใด วิ่ง หรือ แล่นตามหลังมาหรือไม่ และ ( หากมี ) ผู้ขับขี่รถกระบะ ควรจะต้องยังไม่เปลี่ยนช่องทางจราจร โดยควรจะต้องเปิดสัญญาณไฟเตือนการเลี้ยวขวา หรือ ควรจะต้อง รอให้รถยนต์ หรือยวดยานพาหนะที่แล่นตามหลังมา ผ่านไปก่อน และเมื่อเห็นว่า ปลอดภัยดีแล้ว หรือรถยนต์ที่แล่นตามหลังมาผ่านพ้นไปแล้ว จึงจะเปลี่ยนช่องทางเดินรถและช่องทางจราจรไปทางด้านขวาได้
การที่ รถยนต์ BMW ป้ายแดง ไม่ชะลอความเร็วรถลง แต่กลับใช้ความเร็วรถสูง ทั้งที่ปรากฏเบื้องหน้านั้น ช่องทางจราจร ลดลง จาก 4 ช่องทางจราจร ลงเหลือ 2 ช่องทาง และเบื้องหน้ายังมีรถยนต์กระบะแล่นอยู่
และการที่รถยนต์กระบะ เปลี่ยนช่องทางจราจรทางด้านซ้าย ไปทางเดินรถช่องทางจราจรทางด้านขวา โดยไม่ได้ดูให้ดีก่อนว่า จะมีรถยนต์ หรือยวดยานพาหนะอื่นใด รวมถึงรถยนต์ BMW ป้ายแดง แล่นตามหลังมาหรือไม่
ทั้งกรณี “ รถยนต์ BMW ป้ายแดง และ รถยนต์กระบะ” ต่างสามารถใช้ความระมัดระวังได้ แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังไม่ จนเป็นเหตุให้ รถยนต์ทั้งสองคันเกือบจะเฉี่ยวชนกัน( ซึ่งตามข่าวตอนแรกมีการกล่าวอ้างว่า เป็นเหตุให้ รถ BMW ป้ายแดง เบียดกับแบริเออร์ แต่ต่อมากลับไม่ปรากฏรอยครูด ปรากฏบนตัวถังรถ BMW ป้ายแดงทางด้านหน้าขวาแต่อย่างใด) อันอาจถือได้ว่า เป็นต่างฝ่ายต่างขับรถโดยประมาทหรือหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522ตามมาตรา 43(4) และมีโทษ ตามมาตรา 157 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่พันบาท ”
เหตุการณ์ในช่วงที่ 2 – ภายหลังรถยนต์ BMW ป้ายแดง เกือบชนรถยนต์กระบะ แล้วและสามารถแล่นแซงรถยนต์กระบะมาได้แล้ว กลับขับรถปาดหน้าไปทางด้านขวาจนเป็นเหตุให้ ท้ายรถยนต์ BMW ป้ายแดง ด้านหลังขวา พุ่งชนกระแทก ด้านหน้าข้างซ้ายของรถยนต์กระบะสีดำ อย่างแรง จนเป็นเหตุให้รถยนต์กระบะเสียหลักไปทางด้านขวาพุ่งเข้าชนกระแทกกับแท่งแบริเออร์ปูนกลางถนน เป็นเหตุให้รถยนต์กระบะได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้ผู้ขับรถกระบะคันดังกล่าว กระดูกซี่โครงหัก อันเป็นอันตรายแก่กายถึงสาหัส และยังเป็นเหตุให้ ผู้ที่โดยสารมาด้วยกับรถยนต์กระบะได้รับอันตรายแก่กาย อันเป็น “ การขับรถโดยประมาทอันอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ตามมาตรา 43 (4) , มาตรา 157 และยังเป็นความผิดฐาน “ ขับขี่รถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (8) , 160 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และยังเป็นความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 4,000 บาท และยังเป็นความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ตามมาตรา 297 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี อีกด้วย
นอกจากนี้ ยัง” อาจจะ” เป็นความผิด ฐาน “ พยายามฆ่าผู้อื่น ” ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288 ซึ่งมีระวางโทษ “ ประหารชีวิต” หรือ “ จำคุกตลอดชีวิต” หรือ จำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี แต่หากเป็นความผิดเพียงแค่ ฐาน “ พยายาม” – ต้องระวางโทษ “สองในสามส่วน” ของโทษที่กฎหมายกําหนด
มีประเด็นที่น่าพิจารณาว่า “ การที่ผู้ขับขี่รถยนต์ขับรถปาดหน้ารถยนต์ผู้อื่นในระยะกระชั้นชิด จนเป็นเหตุให้ ( หรือคาดหมายได้ว่า) ผู้อื่น หรือผู้ขับขี่รถตามหลังต้องเฉี่ยวชน หรือ ต้องหักหลบรถคันดังกล่าวจนเป็นเหตุให้รถยนต์ของตนเสียหลักพุ่งเข้าชนรถยนต์คันอื่น หรือ พุ่งเข้าชนวัตถุอื่นใด หรือ จนเป็นเหตุให้ผู้ขับขี่รถที่ถูกปาดหน้าในระยะกระชั้นชิดถึงแก่ความตายจากเหตุดังกล่าว จะถือว่าเป็น “ การพยายามฆ่า โดยมี เจตนาเล็งเห็นผล ” ได้หรือไม่
ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 59
บุคคลจะต้องได้รับผิดทางอาญา ต่อมาเมื่อได้ “กระทำโดยเจตนา” เว้นแต่ เป็นกรณีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดแม้ไม่ได้มีเจตนา
“ การกระทำโดยเจตนา” ตามกฎหมายแบ่งเป็น
(1) เจตนาประสงค์ต่อผล คือ มีการกระทำโดยต้องการให้เกิดผลนั้นขึ้น ต้องการอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น และผลเกิดตามนั้น เช่น ต้องการให้เขาตาย จึงฆ่าเขา สุดท้าย เขาตาย
(2) เจตนาเล็งเห็นผล ” คือ การกระทำที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจ แม้ไม่ได้ต้องการให้เกิดผล แต่ในตอนทำนั้น แต่รู้ว่าผลนั้นจะต้องเกิดขึ้นอย่างนั้นแน่ๆ หรือ เล็งเห็นผลได้ว่า ผลจะเกิดจากการกระทำของเราแน่แน่”
– เมื่อพิจารณาภาพที่ปรากฏจากคลิปวิดิโอ จะเห็น การขับรถ BMW ป้ายแดง ขับตามหลัง รถยนต์กระบะแล้วแซงไปด้านซ้าย จากนั้นปาดมาทางด้านขวาอย่างเร็ว จนเป็นเหตุให้ ท้ายรถยนต์ BMW ป้ายแดง ทางด้านขวาพุ่งเข้าชนกระแทกหน้ารถยนต์กระบะอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้รถยนต์กระบะเสียหลักไปทางด้านขวาพุ่งเข้าชนกระแทกกับแท่งแบริเออร์ปูนขอบทางกลางถนนอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้ รถยนต์กระบะได้รับความเสียหาย และผู้ขับขี่รถยนต์กระบะซี่โครงหัก อันเป็นอันตรายแก่กายสาหัส และผู้โดยสารมาด้วยกับรถยนต์กระบะได้รับอันตรายแก่กาย
– การที่ ผู้ขับขี่ รถยนต์ BMW ป้ายแดง ซึ่งน่าเชื่อว่า มีสาเหตุโกรธเคือง หรือไม่พอใจกับผู้ขับรถยนต์กระบะมาก่อน จากการที่ถูกรถยนต์กระบะเปลี่ยนเลน หรือช่องทางจราจรในลักษณะ “ เบียดเข้ามา ” จนเป็นเหตุให้รถยนต์ BMW ป้ายแดงของตน เกือบจะชนหรือ ครูดไปกับแท่งปูนแบริเออร์กลางถนน จึงได้ขับรถยนต์ BMW ป้ายแดง ไล่ติดตามจนกระทั่งทันกัน แล้วปาดรถอย่างเร็วและแรง จนเป็นให้ท้ายรถยนต์ BMW ป้ายแดงพุ่งเข้าชนกระแทกกับหน้ารถยนต์กระบะทางด้านซ้าย อย่างแรง จนเป็นเหตุให้รถยนต์กระบะเสียหลักพุ่งเข้าชนแท่งปูนแบริเออร์กลางถนนจนเป็นเหตุให้ผู้ขับรถยนต์กระบะได้รับอันตรายสาหัส รถยนต์กระบะได้รับความเสียหาย จะถือได้หรือไม่ว่า “ผู้ขับขี่ รถยนต์ BMW ป้ายแดง ย่อมเล็งเห็นผลได้ ว่า ผู้ขับรถยนต์กระบะ อาจถึงแก่ความตายได้จากการที่รถยนต์กระบะพุ่งเข้าชนแท่งปูนแบริเออร์จากการที่ผู้ขับขี่ รถยนต์ BMW ป้ายแดง ขับรถปาดหน้าเอาท้ายกระแทกหน้ารถยนต์กระบะ ดังกล่าว ”
– หากถือได้ว่า เป็นเจตนา “ เล็งเห็นผลได้” ( เล็งเห็นผลได้ว่า การขับรถในลักษณะดังกล่าว ผู้ขับรถกระบะอาจถึงแก่ความตายได้ ) ผู้ขับรถ BMW ป้ายแดง ก็ “ อาจจะ ” ต้องรับผิดฐาน “ พยายามฆ่า” ได้
– ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนจะได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป อาทิเช่น พยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ , ภาพจากกล้องหน้ารถ , ภาพจากกล้องวงจรปิดในบริเวณที่เกิดเหตุ , พยานที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์ เช่น ความเร็วของรถ BMW ป้ายแดง ขณะเอาท้ายรถไปชนกระแทกหน้ารถยนต์กระบะ และความแรงของการถูกกระแทก เปรียบเทียบกับ สภาพความเสียหายของรถยนต์กระบะ กับแท่งปูนแบริเออร์ และสภาพบาดแผลและความรุนแรงของบาดแผลที่ผู้ขับรถยนต์กระบะได้รับ และ บาดแผลดังกล่าว หากรักษาไม่ทันท่วงทีอาจตายได้หรือไม่ เป็นต้น
เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 1178/2539- จำเลยใช้ก้อนหินโตเท่ากำปั้นขว้างกระจกหน้ารถบรรทุกและรถโดยสาร คันละ 2 ก้อน การกระทำอย่างนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ถ้ารถคว่ำ คนที่อยู่ในรถอาจถึงแก่ความตายได้ จำเลยจึงมีเจตนาฆ่าคน ถ้ามีคนตายจำเลยคนนี้จะมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ถ้าไม่มีคนตาย ก็จะมีความผิดฐานพยายามฆ่าคนตาย
– การขับรถ จึงไม่ใช่แค่ การขับรถ แต่ “อาจจะ” เป็นความผิดฐาน “ พยายามฆ่า” ได้
• นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 25